“สุรพงษ์”ลุยพื้นที่อุดร – หนองคาย เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ไทย-ลาว-จีน

“สุรพงษ์”ลุยพื้นที่อุดร – หนองคาย เช็กความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ (หนองคาย – เวียงจันทน์ แห่งที่ 2) และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เชื่อมระหว่าง ไทย-ลาว-จีน สั่งปรับแบบทางคู่ สั่งแก้แบบจุดตัดถนน อำนวยความสะดวกประชาชนและแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถยนต์ – รถไฟ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า และรถไฟทางคู่พื้นที่จังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภูประกอบด้วยสถานีรถไฟหนองตะไก้ อำเภอเมืองอุดรธานี และได้โดยสารรถไฟขบวน 975 ไปสถานีรถไฟหนองคาย ระหว่างทางได้ตรวจพื้นที่โครงก่อสร้างทางรถไฟเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

อีกทั้งตรวจพื้นที่โครงการพัฒนาย่านสถานีและศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง และรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของโครงการรถไฟทางคู่ ตรวจพื้นที่จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพ (หนองคาย – เวียงจันทน์ แห่งที่ 2) และได้ตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนหนองคาย รับฟังบรรยายสรุปการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย – สปป. ลาว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ในวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดอุดรธานี และหนองคาย

ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะดำริของนายกรัฐมนตรี ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนแบบ One Stop Service ที่จะะช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้รับความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าโดยรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

ปรับแบบทางคู่ แก้ปัญหาจุดตัดถนน

จากนั้น เดินทางโดยขบวนรถไฟไปที่สถานีนาทา ผ่านจุดตัดบริเวณทางแยกบ้านจั่น ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย โดยได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ กับ ทล. 216 บริเวณแยกบ้านจั่น

โดยปรับรูปแบบการสร้างรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว เป็นทางยกระดับข้ามจุดตัดทางหลวง 216 อยู่ในระดับที่ 2 รองจากรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับคงทางรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้นดิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถยนต์ – รถไฟ ให้กับประชาชน

ในส่วนการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ (หนองคายเวียงจันทน์ แห่งที่ 2) ซึ่งมีผลการศึกษา (เบื้องต้น) ว่าจะดำเนินการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ จำนวน 2 สะพาน (ขนานกับสะพานเดิม) โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ก่อสร้างสะพานรถไฟ (สะพานคานยื่นสมดุล) สำหรับรองรับรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4 Tracks (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร 2 Tracks และขนาดมาตรฐาน 2 Tracks) ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานเดิมให้เป็นสะพานสำหรับรถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยมีแผนจะก่อสร้างในปี 2569 – 2571 และเปิดให้บริการในปี 2572

ระยะที่ 2 ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ ทางด้านเหนือน้ำของสะพานเดิม จำนวน 2 ช่องจราจร รวมกับสะพานเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) โดยมีแผนจะก่อสร้างในปี 2584 – 2586 และเปิดให้บริการในปี 2587

You May Also Like