1 สัปดาห์ 20 บาท ตลอดสายมีนิวไฮ แต่ยังไม่หายห่วง !

ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 มีการประโคมข่าวหวือหวา ปริมาณผู้โดยสารทำนิวไฮบ้างละ เป็นความสำเร็จของนโยบายบ้างละ และอีกจิปาถะ ผมเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?

1. การประเมินผลใน 1 สัปดาห์

ผมนำข้อมูลทุกแง่มุมมาเปิดเผย เพื่อให้ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ว่าแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

1.1 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย

เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุด ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงานได้

1.2 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย

เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงาน ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดได้

2. ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังการเก็บ 20 บาทตลอดสาย

2.1 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง

เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงก่อนและหลังการเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15,357 คน คิดเป็น 11.4%

น่าดีใจที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถทำสถิตินิวไฮได้เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 โดยมีผู้โดยสาร 31,457 คน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิตินิวไฮเดิมที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.พ. 2566 ซึ่งมีผู้โดยสาร 29,129 คน พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2,328 คน คิดเป็น 8%

แต่น่าเสียใจที่รถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นน้อยมากในวันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค. 2566 ซึ่งมีผู้โดยสาร 27,888 คน เปรียบเทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566 ซึ่งมีผู้โดยสาร 27,743 คน เพิ่มขึ้นแค่เพียง 145 คน คิดเป็น 0.5% เท่านั้น

อนึ่ง ผมมีข้อสังเกตว่า ผู้เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีแดงแถลงข่าวโดยเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารในวันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค. 2566 กับวันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค. 2566 (แทนที่จะเปรียบเทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566) ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอะไร ? เมื่อดูปริมาณผู้โดยสารพบว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ต.ค. 2566 มีผู้โดยสาร 25,042 คน น้อยกว่าปริมาณผู้โดยสารในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566 ซึ่งมี 27,743 คน

2.2 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงก่อนและหลังการเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 12,392 คน คิดเป็น 3.5%

มีข้อสังเกตว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค. 2566 มีผู้โดยสารลดลงจากวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566 จำนวน 1,081 คน คิดเป็น 1.5% นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าเหตุใดผู้โดยสารจึงลดลง ? ทั้งๆ ที่มีการลดค่าโดยสารลงมาแล้ว

ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเคยทำสถิตินิวไฮไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค. 2566 ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย โดยมีผู้โดยสาร 76,711 คน แต่หลังจากเก็บ 20 บาทตลอดสายแล้ว (นับถึงวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค.2566) ยังไม่สามารถทำลายสถิตินี้ได้

2.3 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้ารวม 2 สาย

เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรวมของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงในช่วงก่อนและหลังการเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 27,749 คน คิดเป็น 5.6%

3. สรุป

ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณผู้โดยสารในวันเสาร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 ที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่าวันอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ทำให้มีผู้คนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านจำนวนมาก และหลายคนอาจจะไม่เคยใช้รถไฟฟ้ามาก่อน เมื่อมีนโยบายรถไฟฟ้า 20บาทตลอดสาย จึงต้องการทดลองใช้

อย่างไรก็ตาม การประเมินในช่วงเวลาสั้นๆ ยังไม่สามารถสรุปผลได้ ต้องติดตามดูกันต่อไป

ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้พยายามใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ผลักดันให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้ได้

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีครับ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *