..รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเหมาะสมของค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่กับอิทธิพลของหลายตัวแปร
การศึกษาเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อแยกแยะความสำคัญของตัวแปร
จึงอาจใช้วิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในแวดวงวิชาการ คือ
การตรวจสอบทางสถิติว่า ตัวแปรต้นตัวใดมีอิทธิพลทีมีนัยสำคัญต่อตัวแปรตามที่เราสนใจจะศึกษา
เนื่องจากไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์และสถิติเชิงลึกแบบนั้น โพสต์นี้ จะขอลองใช้การเชื่อมโยงตรรกะแบบง่ายๆมาวิเคราะห์ว่า
อะไรเป็นเงื่อนไขที่่สำคัญสุดต่อความเป็นไปได้และความสำเร็จของการขึ้นค่าแรง
การวิเคราะห์นี้ตั้งอยู่บนข้อกำหนดว่า การขึ้นค่าแรงจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการจ้างงาน กล่าวคือ จำนวนแรงงานเท่าเดิม
ภายใต้ข้อกำหนดว่า ต้องใช้แรงงานเท่าเดิม การขึ้นค่าแรง ย่อมทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
ดังนั้น ถ้าธุรกิจไม่มีขีดความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่ม ย่อมส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจอย่างแน่นอน
ในสถานการณ์แบบนี้ ค่าแรงอย่างดี ก็เพิ่มขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น
(แต่ประเด็นนี้ในทางทฤษฎีก็ไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อเพิ่มค่าแรง เงินเฟ้อก็อาจเพิ่มขึ้นตามวนลูปกันไป)
หรือรัฐก็จะต้องดำเนินมาตรการที่ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนตัวอื่น เพื่อชดเชยกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงาน
ดังนั้น จึงเหลือเงื่อนไขเดียวเท่านั้นที่ การขึ้นค่าแรง จะไม่ส่งผลต่อการจ้างงานธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่ม ในอัตราที่เร็วกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับอัตราการขึ้นค่าแรง
ทั้งนี้ รายได้ = จำนวนสินค้า x มูลค่าสินค้า
การเพิ่มจำนวนสินค้าก็ต้องมาจาก ความสามารถในการขยายตลาดทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
(อย่างไรก็ดี กรณีนี้อาจไม่นำไปสู่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะว่าผู้ประกอบการบางราย ถึงแม้ยอดขายเพิ่มขึ้น แทนที่จะนำกำไรที่เพิ่มขึ้นมาลงทุนในนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน กลับไปจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นภายใต้อัตราค่าแรงเดิม)
การยกระดับมูลค่าสินค้าก็ต้องมาจากความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้สินค้าเดิมให้มีมูลค่าสูงขึ้นและยังเป็นที่ยอมรับของตลาด หรือกระโดดไปสู่การผลิตและการขายสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีมูลค่าสูงเลย ซึ่งจะเกิดเป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยฝีมือของทั้งฝั่งผู้ประกอบการและแรงงาน
การวิเคราะห์แบบง่ายๆนี้ ชี้ให้เห็นว่า ถ้ายังย่ำอยู่กับอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นยากที่จะปรับขึ้นค่าแรงได้ เงื่อนไขสำคัญสุดต่ออนาคตของแรงงานและเศรษฐกิจไทย คือ
การยกระดับความสามารถของธุรกิจไทยทั้งในแง่ของการค้าและนวัตกรรมด้านการผลิต แทนที่จะโต้เถียงกันไปมา ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฟากแรงงาน ฟากธุรกิจ และฟากรัฐบาล
ควรรวมพลังกันมาขบคิดว่า จะปรับโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศกันได้อย่างไร
แต่ละฝ่ายควรจะทำอะไร แรงงานต้องปรับปรุงตนเองในเรื่องอะไร
นักธุรกิจจะต้องพัฒนาตนเองและยกระดับในเรื่องใด อย่างไร
และรัฐบาลควรใช้มาตรการทั้งช่วยเหลือและบังคับอะไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งฝั่งแรงงานและผู้ประกอบการ
เพื่อยกระดับความสามารถในการค้าและในการแข่งขันของธุรกิจไทย ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงขึ้น และขยายตลาดไปได้ทั่วโลก
ทำกันอย่างจริงจังเสียที
หลังจากเสียเวลากับวาทกรรมสวยหรูที่แทบจะไม่เห็นผล เช่น Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น มานานมากแล้ว !!!
ปล. คหสต
อดสงสัยไม่ได้ว่า การที่เรามีแรงงานค่าแรงต่ำจากเพื่อนบ้านพร้อมใช้อย่างต่อเนื่องมายาวนาน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราติดกับดักอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นหรือไม่?
ความรู้สึกทั้งหมด