งานวิจัยของสถาบัน MIT ชี้ว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ 35% และลดเวลาการทำงานลง 14% และผลการสำรวจของ World Economic Forum ตั้งแต่ปี 2565-2566 ระบุว่า บุคลากรด้าน AI จะขาดแคลนอย่างมหาศาล เพราะอุตสาหกรรมการผลิตของทั้งโลกต้องพึ่งพา AI มากยิ่งขึ้น แต่การเรียนการสอนด้าน AI ของไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะบรรจุในเนื้อหาของวิชาคอมพิวเตอร์ เน้นทักษะความรู้เฉพาะทาง มีการเชื่อมโยงกับโจทย์หรือความต้องการจริงในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย
จึงเป็นที่มาของการออกแบบหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกันขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 มี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี และนายนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ศ. ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ที่ปรึกษา มจธ.(ราชบุรี) และตัวแทนจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนาม
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังคนด้าน AI ไม่เพียงพอ ประกอบกับอุตสาหกรรมในประเทศกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความต้องการบุคลากรด้าน AI เข้าไปช่วยพัฒนาและดูแลระบบ หากเราไม่เร่งผลิตบุคลากรด้านนี้ ในระยะยาวแล้วอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะมีปัญหาเรื่องกำลังคนอย่างแน่นอน
“ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยียุค 3.0 และกำลังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นเทคโนโลยี 4.0 หากเราสามารถสร้างคนที่มีทักษะ และมีประสบการณ์ทำงานด้าน AI กับภาคอุตสาหกรรมเข้าไปเติมในจุดนี้ นอกจากจะสามารถใช้ AI มาช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังเป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งกับตัวผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมของไทยโดยรวม”
ดังนั้น เพื่อให้หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) สามารถพัฒนาให้นักศึกษามีคุณลักษณะและความสามารถตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ ที่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยบริบทจริง (Content) ของอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยใช้โจทย์ที่ได้รับจากสถานประกอบการจริง จึงเป็นจุดเด่นที่สำคัญของหลักสูตรนี้
ศ. ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ที่ปรึกษา มจธ.(ราชบุรี) และประธานหลักสูตร ISE กล่าวว่า ภายใต้หลักสูตรนี้ นักศึกษาจะมีความรู้และทักษะทั้งทางด้านวิศวกรรม อุตสาหกรรมและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น IoT และ Cloud เพราะเป็นการเรียนรู้แบบพหุวิทยาการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การประยุกต์และความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้มีโอกาสใช้ความรู้ทางวิศวกรรมระบบในสาขาเครื่องกล ไฟฟ้า พลังงานและเคมี และชีวภาพ มาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการของผู้ประกอบการได้จริง รวมถึงมีการฝึกปฏิบัติงานร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยที่นักศึกษามีอิสระในการออกแบบแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเลือกเรียนตามหัวข้อโครงงานที่ตนเองสนใจ ผ่านการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน พร้อมไปกับที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบบสังคม และการเป็นสมาชิกของสังคมที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Residential College ของ มจธ. ราชบุรี
“เป้าหมายของหลักสูตร คือ “ผลิตนักเทคโนโลยี AI” หรือ “วิศวกร AI” โดยจุดเด่นของหลักสูตร คือ นักศึกษาได้ปฏิบัติงานกับโรงงานอุตสาหกรรมจริง โดยใช้เทคโนโลยีระดับโลกตั้งแต่ปี 1 การศึกษาจะไม่จำกัดเฉพาะทฤษฎีเท่านั้น แต่เรียนกับเทคโนโลยีและโจทย์ปัญหาจริงจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ที่จบจากหลักสูตร ISE นี้ จะสามารถนำเครื่องมือและเทคโนโลยี AI ไปใช้กับงานของตนเอง ซึ่งนอกจากในโรงงานแล้ว ยังประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ เช่น ด้านการเกษตร Smart Farming ยานยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น”
ศ. ดร.บุญเจริญ กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงงานของโอสถสภา และการใช้ AI มาแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการจริงของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการใช้งานเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีด้าน AI และ IoT ระดับสูงของโอสถสภา ตั้งแต่เรียนในชั้นปีที่ 1 ซึ่งการเริ่มต้นได้เร็ว จะทำให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเป็นบุคลากรคุณภาพที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแน่นอน
นายนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ปัจจุบันโอสถสภามีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะระบบอัจฉริยะหรือปัญญาประดิษฐ์ มาบริหารจัดการในกระบวนการต่าง ๆ อย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการผลิต จึงมีความเชื่อมั่นว่าหลักสูตร ISE นี้จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง พร้อมส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีทักษะและประสบการณ์ พร้อมเป็นบุคลากรคุณภาพที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากลและเติบโตอย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือ 3 ประสานระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology provider) อย่างหัวเว่ย นักศึกษา และบริษัทเอกชนเช่นนี้ ยังไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน ถือเป็นครั้งแรก และหวังว่าจะเป็นโครงการนำร่องความร่วมมือในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ตัวนักศึกษาเขาก็จะได้รับโจทย์ที่เป็นของจริง โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นพี่ๆ วิศวกรและบุคลากรของโรงงานคอยสนับสนุนและช่วยเหลือ จนได้เป็นนวัตกรรมด้าน AI ออกมา ซึ่งความร่วมมือที่ต่อเนื่องกับ มจธ. ภายใต้หลักสูตร จะทำให้สิ่งที่นักศึกษา ISE รุ่นก่อนทำมาแล้ว ถูกพัฒนาต่อและทำให้ดีขึ้น จนสามารถนำไปใช้จริงกับกับโรงงานของเราได้ในที่สุด”
นอกจากนี้ มจธ.ยังได้ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ผ่านโครงการ Huawei ICT Academy ที่มีการลงนามความร่วมมือตั้งแต่ปี 2020 โดยหัวเว่ย ประเทศไทย จะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ด้าน AI และ IoT หรือ big data ต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยในการนำไปใช้เป็นการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านไอซีทีให้แก่นักศึกษา ผ่านคอร์สการเรียนการสอนแบบปฏิบัติงานจริง พร้อมมอบโอกาสการฝึกงานในสายอาชีพด้านนวัตกรรมการศึกษาเพื่อดิจิทัล เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับตลาดงานในยุคดิจิทัล และนักศึกษายังมีโอกาสในการฝึกงานรวมไปถึงการเข้าทำงานกับบริษัทฯ รวมถึงบริษัทพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ย
หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) นี้ เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาในรุ่นที่ 1 แล้วกว่า 20 คน และกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาในรุ่นถัดไป โดยสามารถติดตามข่าวสารของหลักสูตร ได้ที่ https://ratchaburi.kmutt.ac.th/teaching/intelligent-systems-engineering-course/ และhttps://www.facebook.com/RCKMUTT