อาหารกลางวันเด็กนักเรียนด้อยคุณภาพ ปริมาณน้อยไม่พอกิน ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง เกิดจากเหตุ 3 ประการคือ โกงกิน ขาดแคลนงบประมาณ และมีเหตุคาดไม่ถึง ปัญหายังถูกซ้ำเติมจากระบบพวกพ้องระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่กำกับดูแลกัน ครั้นมีปัญหาก็ช่วยกันปกป้อง
งบอาหารกลางวัน 2.84 หมื่นล้านบาทต่อปี สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ถึง ป.6 จำนวน 5.8 ล้านคน ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยปัญหาซ้ำซากแก้ไม่ตก การแก้ไขป้องกันจำเป็นต้องอาศัยการเปิดเผยให้ครู ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับรู้ ร่วมจัดการอย่างตรงไปตรงมาจึงจะเอาชนะได้
โกงกิน..
ปัญหาหลักคือความละโมบ เห็นแก่พวกพ้อง การเรียกรับสินบนเงินใต้โต๊ะ ที่กระทำโดย ผอ.โรงเรียน ครูผู้ดูแลการจัดทำอาหาร หรือแม่ครัว พฤติกรรมที่พบเห็นเช่น การจ้างผู้รับเหมา จ้างคนทำครัว ซื้อวัตถุดิบปรุงอาหารไม่ครบจำนวน ใช้ของราคาถูกไม่มีคุณภาพ ทำอาหารปริมาณน้อยไม่พอกิน เลือกทำอาหารง่ายๆ ต้นทุนต่ำแม้ครูและนักเรียนจะไม่พอใจ ฯลฯ
มีหลายกรณีที่ ผอ. โรงเรียนทำผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าโรงเรียนอื่นก็ทำ เช่น หักเงินค่าอาหารเด็กก้อนหนึ่งทุกวันโดยอ้างว่า เพื่อเป็นงบรับรองแขก จัดเลี้ยงเทศกาล ซื้อของขวัญให้ผู้ใหญ่ จัดงานกีฬา แบ่งอาหารไปเลี้ยงเด็กมัธยม ฯลฯ พฤติกรรมเช่นนี้แม้ไม่ได้นำเงินเข้ากระเป๋าตนเองก็ถือเป็นการเบียดบังเงินหลวง ใช้เงินผิดประเภท
บางครั้งพบว่า แม้โรงเรียนไม่มีการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันเนื่องจากเป็นวันหยุดพิเศษหรือวันจัดกิจกรรม แต่ยังมีการเบิกงบเต็มจำนวน
ขาดงบประมาณ..
การได้รับงบประมาณน้อยเกินไปมักไม่เกิดกับโรงเรียนใหญ่โรงเรียนดัง แต่เป็นปัญหามากสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย เช่น มีนักเรียน 20 คน จะได้งบค่าอาหาร 720 บาทต่อวัน เมื่อหักค่าเดินทาง ขนส่ง ค่าแก๊ส เงินก็แทบไม่เหลือแล้ว บางโรงเรียนแม้มีเด็กมากแต่เงินค่าอาหารก็หักอยู่ดีอ้างว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าจ้างแม่ครัว ซื้ออุปกรณ์ ซื้อเครื่องกรองน้ำ ฯลฯ ทำให้เหลือเงินทำอาหารจำกัดจำเขี่ยขึ้นอีก
บางโรงเรียนใหญ่ๆ ทำเรื่องน่าสงสัย เรียกเก็บ ‘เงินเพิ่ม’ จากครูและนักเรียน โดยอ้างว่าเพื่อให้ได้อาหารปริมาณมากคุณภาพดี บางโรงเรียนจ้างคนทำครัวแต่ยังใช้แรงงานครูและนักเรียน เป็นต้น
มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า โรงเรียนในเมืองกับชนบทสามารถซื้อวัตถุดิบได้ถูกแพงต่างกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและขนส่งต่างกัน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กย่อมเกิดภาระมากต่อครูที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว
คาดไม่ถึง..
บ่อยครั้ง ‘เหตุคาดไม่ถึง’ ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากหรือความขัดแย้ง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโอนงบประมาณมาให้ล่าช้า มีการสร้างเหตุการณ์เพื่อกลั่นแกล้งกันระหว่างครูกับผู้ดูแลโครงการหรือครูกับคณะกรรมการโรงเรียน ผู้ดูแลโครงการฯ เพิ่งรับตำแหน่งใหม่จึงขาดความรู้ด้านโภชนาการและการจัดทำอาหารที่เหมาะสม ครูและลูกจ้างบางคนร่วมทานอาหารเด็กด้วยโดยไม่จ่ายเงินสมทบ เป็นต้น
การป้องกัน..
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลเสียต่อเด็กนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ตั้งใจทำดีต้องเดือดร้อน การแก้ไขป้องกันควรทำหลายอย่างไปพร้อมกัน ได้แก่
1. สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครู โดยติดป้ายประกาศไว้หน้าโรงเรียนหรือลงเว็บไซต์ ให้รายละเอียดว่าเทอมการศึกษานี้ได้งบประมาณแต่ละอย่างเป็นเงินเท่าไหร่ เงินเหล่านั้นใช้ไปอย่างไร ซื้อใคร จ้างใคร ราคาเท่าไหร่
2. การแก้ไขปัญหาขาดงบประมาณ
2.1 อปท. ที่มีรายได้มากควรจัดสรรเงินค่าอาหารกลางวันเพิ่มให้โรงเรียน เช่น กรณีมติ ครม. กำหนดราคาอาหารต่อหัว 22 – 36 บาท อปท. อาจใช้เงินของตนเพิ่มให้เป็น 32 – 46 บาท หรืออุดหนุนค่าก่อสร้างสถานที่และอุปกรณ์ ค่ารถขนส่ง ค่าจ้างคนทำครัว ฯลฯ
2.2 แก้กฎระเบียบราชการให้ชัดเจน เช่น เงินค่าอาหารเด็กสามารถนำไปใช้อะไรได้หรือไม่ได้บ้าง
3. เพื่อป้องกัน อปท. โอนเงินให้โรงเรียนล่าช้าเพราะรอการยืนยันจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนจริง อปท. อาจใช้ข้อมูลนักเรียนของปีที่แล้ว หรือใช้ตัวเลขเมื่อโรงเรียนปิดการรับสมัครนักเรียนไปก่อน โดยทั่วไป อปท. จะโอนเงินค่าอาหารให้โรงเรียนโดยตรง มีแต่ กทม. ที่โอนผ่าน สพฐ. เขตพื้นที่ กรณีเช่นนี้ กทม. ต้องดำเนินการโดยเร็วและรอบคอบ
4. นักเรียนและครูช่วยกันสอดส่องและเปิดโปงถ้ามีเรื่องไม่ถูกต้อง เพจหมาเฝ้าบ้านและนักสืบไซเบอร์ช่วยกันขุดคุ้ย โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข่าวให้สังคมรับรู้
5. นำโปรแกรม ‘Thai School Lunch’ ของ ศธ. และ NECTEC มาช่วยจัดรายการอาหารให้นักเรียนได้รับสารอาหารครบถ้วนหากไม่มีนักโภชนาการประจำโรงเรียน
6. ปัจจุบันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ (ACT) ได้พัฒนาโปรแกรม ‘ACT Ai โรงเรียนโปร่งใส’ ให้เป็นสื่อกลางระหว่างโรงเรียน ผู้บริหาร นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ช่วยสร้างการรับรู้ข้อมูลการใช้งบประมาณ การบริหารจัดการ ปัญหาและความต้องการของทุกฝ่าย เชื่อว่าเครื่องมือนี้จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนได้ในอนาคต
7. หากมีเงินเหลือจากค่าอาหาร ควรให้คณะกรรมการโรงเรียนพิจารณาว่าจะนำไปทำอะไร ไม่ปล่อยเป็นอำนาจของ ผอ. ตัดสินเอง
บทสรุป..
ศาลคอร์รัปชันมีคำพิพากษาคดีเลี้ยงเด็กด้วยขนมจีนคลุกน้ำปลา สรุปได้ว่า ‘แม้คิดคำนวณได้เป็นตัวเงินไม่มากนัก แต่การเบียดบังนี้ทำให้นักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการพัฒนาร่างกาย ย่อมส่งผลเสียในระยะยาว พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรรอลงอาญา’ สะท้อนว่า การโกงอาหารกลางวันเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องไม่เกิดขึ้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)